ถ้าจะสังเกตจากการใช้ชีวิตประจำวัน
จะเห็นได้ว่าไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของพวกเราเป็นอย่างมาก
วันนี้เราจะมาดูกันว่ามีเครื่องมือช่างอะไรบ้างที่ช่างไฟนิยมใช้
หรือที่ช่างไฟจำเป็นจะต้องมีติดตัวไว้เป็นประจำมีอะไรบ้าง
เผื่อไว้ว่าเราจะหามาเก็บไว้ใช้เวลาฉุกเฉินหากไฟฟ้าที่บ้านของเราดับ หรือชำรุด
เราก็จะสามารถหาเครื่องมือช่างเหล่านั้นมาใช้ในการซ่อมได้ ทีนี้เราก็มาดูกันครับว่าเครื่องมือช่างชนิดไหนใช้ทำอะไร
มีวิธีเก็บรักษาอย่างไร และมีวิธีใช้อย่างไรบ้าง
1.
ค้อน
เครื่องมือช่างตัวแรกก็คือค้อนครับ ค้อนที่ใช้สำหรับงานไฟฟ้ามีหลายชนิด
ไม่ว่าจะเป็น ค้อนหงอน ทำด้วยเหล็กด้านหน้าเรียบโดยมีหงอนด้านบนใช้ถอนตะปู ค้อนเหลี่ยมเล็กใช้ตอกตะปูในการเดินสายไฟ
วิธีการใช้และการบำรุงรักษา
1) อย่าใช้ค้อนงัดจนเกินกำลัง เพราะจะทำให้ด้ามค้อนหักได้
2) รักษาผิวหน้าค้อนให้ราบเรียบเสมอกัน
3) ห้ามใช้ค้อนที่ชำรุดแล้ว เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
4) หลังใช้งานเสร็จแล้ว ควรเช็ดค้อนให้สะอาด
ทาด้วยน้ำมัน แล้วเก็บไว้ในที่เก็บเครื่องมือ
2. คีม
เครื่องมือช่างตัวที่สองคือคีมครับ
คีมเป็นเครื่องมือช่างที่จำเป็นสำหรับการเดินสายไฟเป็นอย่างมาก เราสามารถใช้คีมในการตัด
ดัด งอ โค้ง และปอกสายไฟได้ สำหรับคีมที่มีด้ามเป็นฉนวนหุ้ม
จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น โดยคีมที่ใช้ในการเดินสายไฟ
สามารถแยกออกได้เป็น 4 ชนิด คือ คีมปอก และตัดสาย คีมปากจระเข้ คีมปากจิ้งจก และคีมย้ำหัว ต่อสาย
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
1) ใช้คีมให้เหมาะกับงาน
2) ไม่ใช้คีมขันสกรูหรือเกลียว
เพราะจะทำให้ปากของคีมบิ่น และชำรุด
3) ไม่ควรใช้คีมแทนการใช้ค้อน
4) ก่อนใช้ตรวจฉนวนหุ้มให้เรียบร้อยทุกครั้งก่อนใช้
หากชำรุดห้ามใช้เด็ดขาด
5) เมื่อเลิกใช้แล้วควรทำความสะอาด
และจัดเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
3. ไขควง
เครื่องมือช่างตัวที่สามคือไขควง
ไขควงเป็นเครื่องมือช่างที่จำเป็นอย่างยิ่งในงานไฟฟ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน เช่น
ต่อฟิวส์ ใส่สวิตซ์ใส่ดวงโคม ขันตะปูเกลียวหรือสกรูให้แน่น ถอนตะปูเกลียวออกจากที่ยึด ไขควงนั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามลักษณะการใช้งาน คือ ไขควงปากแบน ไขควงปากสี่แฉก ไขควงบล็อก
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
1) ไม่ควรใช้ไขควงแทนสกัดหรือค้อน
2) ไม่ควรใช้ไขควงที่เปื้อนน้ำมัน
เพราะอาจเกิดพลาดพลั้งกระแทกมือได้
3) ควรเลือกใช้ไขควงที่มีปากลักษณะเดียวกับชนิดของหัวสกรู
4) การใช้ไขควง ควรจับที่ด้ามของไขควงไม่ควรใช้คีมจับด้ามไขควงขันสกรู
5) ใช้ไขควงที่มีด้ามเป็นฉนวนในงานช่างไฟฟ้า
6) ถ้าไขควงชำรุดต้องซ่อมทันที
7) หลีกเลี่ยงการใช้ไขควงในการถอดหรือคลายสกรูเก่าที่ชำรุด
8) เมื่อเลิกใช้แล้วควรทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
4. สว่านเจาะไม้
เครื่องมือช่างตัวที่สี่คือสว่านไม้
สว่านไม้ถูกใช้มากในงานเดินสายไฟ เราใช้สว่านเจาะไม้ในการเจาะรู เพื่อยึดอุปกรณ์ไฟฟ้า
เช่น พุกประกับลูกถ้วย กล่องไม้ ร้อยสาย เป็นต้น สว่านเจาะไม้มีหลายแบบหลายขนาด
เช่น สว่านข้อเสื่อ สว่านเฟือง สว่านมือชนิดกระแทก สว่านมือด้ามเหล็ก และสว่านไฟฟ้าซึ่งใช้เจาะได้ทั้งไม้และผนังตึก
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
1) เลือกสว่านให้เหมาะสมกับงาน
2) ใส่ดอกสว่านให้ตรงแน่นก่อนการใช้งาน
3) ขณะเจาะควรตั้งดอกสว่านให้ตั้งฉากกับชิ้นงาน
และจับชิ้นงานไว้ให้แน่น
4) ถ้าต้องการเจาะรูที่มีขนาดใหญ่
ควรใช้ดอกสว่านเล็กนำก่อน
5) ขณะเจาะควรคลายให้เศษวัสดุออกบ้าง
เพื่อลดแรงกด และป้องกันไม่ให้ดอกสว่านหักหรือร้อน
6) การเจาะชิ้นงานที่เป็นไม้
ก่อนที่ไม้จะทะลุควรกลับไม้เจาะด้านตรงข้ามเพื่อป้องกันไม่ให้แตก
7) การเจาะด้วยสว่านไฟฟ้าไม่ควรล็อกปุ่มกดสวิตซ์
และต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
8) เมื่อเลิกใช้งานให้ถอดคอกสว่านออกจากตัวสว่าน
ทำความสะอาด และเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
5.
มีด
เครื่องมือช่างชิ้นที่ห้าคือมีด
ใช้สำหรับตัด
ปอก ขูดหรือทำความสะอาดสายไฟ
ถูกใช้มากในการเดินสายไฟฟ้า
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
การปอกสายไฟควรตะแคงมีดทำมุม 45 องศา กับสายไฟลักษณะเดียวกับการเหลาดินสอ อย่ากดใบมีดลึกจนเกินไป เพราะใบมีดอาจตัดถูกลวดทองแดงภายในขาด หรือ ชำรุดเสียหายได้
6. เลื่อย
เครื่องมือช่างชิ้นที่หกคือเลื่อย
เลื่อยมีหลายชนิดแตกต่างกันทั้งขนาด และรูปร่าง เลื่อยที่ใช้สำหรับงานช่างไฟฟ้า คือเลื่อยปากไม้หรือเลื่อยรอปากไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันด้านบนเป็นเหล็กหนา
มีฟันเลื่อยละเอียด ใช้สำหรับตัดปากไม้ในการเข้าไม้ต่าง
ๆ ให้ประณีตเรียบร้อย
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
1) อย่าปล่อยให้ใบเลื่อยเปียกน้ำ
ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ไม่ชื้น
2) เมื่อแต่งฟันเลื่อย
พยายามให้ฟันเลื่อยอยู่ในรูปเดิม
3) อย่าวางเลื่อยให้ถูกแดดร้อนจัด
4) เมื่อเลิกใช้แล้วต้องทำความสะอาดโดยการชโลมด้วยน้ำมัน
และเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
7. หัวแร้งบัดกรี
เครื่องมือช่างชิ้นที่เจ็ดคือหัวแร้ง หัวแร้งที่ใช้ในการบัดกรี
เพื่อเชื่อมหรือประสาน มีอยู่ 2 ชนิดคือ หัวแร้งชนิดเผาด้วยถ่าน
และหัวแร้งไฟฟ้า โดยหัวแร้งไฟฟ้าเหมาะที่จะใช้กับงานเดินสายไฟ งานซ่อม และงานประสานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้ความร้อนไม่มากนัก
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
1) ควรรักษาปลายหัวแร้งให้สะอาดอยู่เสมอ
2) อย่าให้หัวแล้งบัดกรีที่ร้อนจัดจนเกินไป
3) เมื่อใช้หัวแร้งแล้วต้องจุ่มน้ำกรดอย่างเจือจาง
แล้วจึงเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
8. เครื่องมือวัดไฟฟ้า
เครื่องมือช่างชิ้นที่แปดคือเครื่องมือวัดไฟฟ้า เช่น มัลติมิเตอร์ ใช้ในงานวัดกระแสไฟฟ้าได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โวลต์ แอมแปร์และโอห์ม
วิธีใช้และการบำรุงรักษา
1) ศึกษาวิธีใช้เครื่องมือวัดไฟฟ้าให้เข้าใจก่อนการใช้งาน
เพราะหากใช้ผิดอาจจะเกิดความเสียหายได้
2) เลือกใช้เครื่องวัดไฟฟ้าให้ถูกกับชนิดของกระแสไฟฟ้า
3) ใช้แล้วต้องเก็บรักษาเครื่องมือวัดไฟฟ้าให้ดี
อย่าให้ตกหรือกระทบกระเทือนมาก ๆ เพราะอาจทำให้ชำรุดหรือเกิดความเสียหายได้
อ้างอิงจาก : eBuild |